รู้จัก "สุขุมวิท 11" ให้มากขึ้น ทำไมถึงเป็นที่เที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวจากต่างชาติรวมถึงคนไทย
แฮชแท็ก #สุขุมวิท11 ถูกพูดถึงบนโลกโซเซียลมีเดียข้ามวัน ตั้งแต่คืน วันที่ 4 มี.ค.2567 กับ ศึกกะเทยไทย-ฟิลิปปินส์ ที่ล่าสุดบานปลาย ตม.สอบขยายผล ตั้งแต่การเข้าประเทศ รวมถึงโรงแรมที่พัก
ซอยสุขุมวิท 11 มีอะไร ?
"ซอยสุขุมวิท 11" เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว กลางกรุงเทพฯ และเป็นถนนที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่ง ซอยนี้เต็มไปด้วย คลับ บาร์ ร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรม ร้านขายอาหารริมทาง และอื่น ๆ อีกมากมาย และนี้คือเหตุผลที่ทำให้ สุขุมวิทซอย 11 ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้แวะเวียนมาไม่ขาดสาย
ประวัติ "ย่านนานา - สุขุมวิท 11"
"นานา" เป็นชื่อย่านและทางแยกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กับแขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา "แยกนานา" เป็นสี่แยกที่เป็นจุดตัดกันระหว่าง "ถนนสุขุมวิท" กับ ซอยสุขุมวิท 4 (ซอยนานาใต้) และซอยสุขุมวิท 3 (ซอยนานาเหนือ) โดยมี "ซอยสุขุมวิท 11" อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
ย่านนานา ในอดีต เรียกว่า ทุ่งบางกะปิ ภายหลังมีกลุ่มผู้มีรายได้สูง เจ้านายในพระราชวงศ์ ข้าราชการระดับสูงและคหบดี มาซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
การจัดสรรที่ดินในบริเวณนี้เริ่มแรกจากนายเอ อี นานา นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายอินเดียมุสลิม ซึ่งเป็นต้นตระกูลของนายเล็ก นานา ทายาทรุ่นที่ 4 ได้ทำธุรกิจจัดสรรที่ดินย่านบางกะปิ ปัจจุบัน คือ ถนนสุขุมวิท
ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 ใกล้ซอยสุขุมวิท 1 ถึงบริเวณแยกวัฒนา ได้ซื้อที่ดินมาจัดสรรและตัดถนนตั้งแต่ซอยนานาเหนือ นานาใต้ รวมไปถึงซอยรื่นฤดี (ซอย 1) แล้วขยับขยายไปถึงซอยอโศกและซอยสันติสุข เป็นบริษัทแรกที่เป็นที่ดินซอยนานาแยกเข้าไปทั้งสองฟากของถนนสุขุมวิทในปัจจุบัน ที่ต่อมามีเจ้าของที่ดินอื่น ๆ เริ่มเข้ามาพัฒนาด้วยเช่นกัน
ชื่อ "นานา" จึงมาจากนามสกุลของนายเล็ก นานา อดีตนักการเมืองและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร จนได้รับฉายาว่า "ราชาที่ดินกรุงเทพฯ" ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจในย่านนี้
ทั้งนี้มีสถานที่สำคัญใกล้เคียง คือ สถานีรถไฟฟ้านานา ตั้งอยู่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 7 ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร และนานาพลาซ่า ศูนย์การค้าสำคัญของย่านนี้ ซึ่งอยู่ในซอยสุขุมวิท 4
บริเวณรอบ ๆ แยกนานา รวมถึงในซอยสุขุมวิท 3 สุขุมวิท 4 และสุขุมวิท 11 เป็นแหล่งที่เป็นที่รู้จักกันดีในแง่ของความเป็นย่านโคมแดง เช่นเดียวกับ ย่านพัฒน์พงศ์, ธนิยะ หรือซอยคาวบอย อันเป็นแหล่งรวมสถานบันเทิงยามค่ำคืนจำนวนมาก ทั้ง ผับ, บาร์, ดิสโก้เทค เป็นที่รู้จักกันดีของชาวต่างชาติ รวมถึงยังเป็นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ถือว่าเป็นย่านที่มีการพัฒนา มีอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่สร้างขึ้นอยู่ข้างเคียง
นอกจาก ซอยสุขุมวิท 11 ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นบริเวณใกล้เคียงที่สามารถเดินทางไปได้ ทั้งเดินเล่นช้อปปิ้ง ในตลาดต่าง ๆ หรือการเยี่ยมชมวัดและสถานที่ทางวัฒนธรรม และยังมีสวนสาธารณะและสถานที่สำหรับกีฬาและการพักผ่อนอีกมากมายอีกด้วย
"สุขุมวิท 11" หนึ่งในทำเล CBD ใจกลางกรุงเทพมหานคร
พื้นที่ทำเลสุขุมวิท เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งย่าน CBD สุดฮอตในกรุงเทพฯ ที่มีการคมนาคมที่สะดวกอย่างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT ซึ่งในย่านนี้มีอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าตั้งอยู่จำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เหมาะกับการเป็นที่อยู่อาศัยและการลงทุนในอนาคต และเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์และแหล่งแฮงค์เอาท์ยามค่ำคืน
CBD (Central Business District) หมายถึงย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานครนั่นเอง โดยเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในมิติต่าง ๆ ได้แก่
- เป็นที่ตั้งขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ เช่น บริษัทข้ามชาติ สถานทูต หน่วยงานราชการ เป็นต้น
- มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานครบถ้วน เช่น ประปา ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม อาหาร สถานพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น
- มีการคมนาคมสะดวกสบาย ทั้งรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT รถโดยสารประจำทาง เรือ แท็กซี่ ทางด่วน เป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะล้อ-ราง-เรือ ได้ครบวงจร
- มีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อการพาณิชย์ เช่น ห้างสรรพสินค้า
- มีพื้นที่สาธารณะของชุมชนอย่างสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ และลานกิจกรรม
- มีการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม โรงแรม สำนักงาน ฯลฯ
ส่องราคาที่ดิน "สุขุมวิท 11"
กรมธนารักษ์ สรุปราคาประเมินที่ดินรายหน่วยที่ดิน รอบปี 2566 – 2569 พบว่า ที่ดินย่านสุขุมวิท 11 มีราคาอยู่ที่ 240,000 – 300,000 บาท/ตร.ว.
10 ทำเลราคาที่ดินพื้นที่ กทม. มีรายละเอียดดังนี้
1.ถนนวิทยุ ราคา 1,000,000 บาท/ตร.ว.
2.ถนนเพลินจิต ราคา 1,000,000 บาท/ตร.ว.
3.ถนนสีลม ราคา 750,000 – 1,000,000 บาท/ตร.ว.
4.ถนนพระรามที่ 1 ราคา 400,000 – 1,000,000 บาท/ตร.ว.
5.ถนนราชดำริ ราคา 750,000-900,000 บาท/ตร.ว.
6.ถนนสาทร ราคา 450,000-800,000 บาท/ตร.ว.
7.ถนนเยาวราช ราคา 700,000 บาท/ตร.ว.
8.ถนนธนิยะ ราคา 600,000 บาท/ตร.ว.
9.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ราคา 280,000-600,000 บาท/ตร.ว.
10.ถนนพัฒน์พงษ์ ราคา 600,000 บาท/ตร.ว.
รวมคอนโดหรูหราใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 11
ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย