'แสนสิริ' ห่วงโควิด-19 กำลังซื้ออสังหาฯ ฟื้นช้า เปิด 24 โครงการ หวนคืนชิงคอนโดฯ ราคาถูก


25 / 01 / 2021

"แสนสิริ" ปรับกลยุทธ์รับภาวะตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว ชี้มีความไม่แน่นอนสูง โควิด-19 ยังมีอาการน่าเป็นห่วง คาดกำลังซื้ออสังหาฯ จะกลับมาครึ่งหลังของปี 65 เรียกร้องยกเลิก LTV-ลดดอกเบี้ยลงต่ำ พร้อมขยายธุรกิจอย่างระมัดระวัง คาดปีนี้เปิด 24 โครงการ มูลค่า 26,000 ล้านบาท เน้นรุกหนักตลาดแนวราบ ลดพอร์ตคอนโดฯ หวนคืนชิงตลาดแมส ผุดคอนโดฯ ราคาถูก 1-2 ล้านบาท นำร่อง 4 ทำเล เผยดีลซื้อโครงการที่ดินจากอสังหาฯรายกลาง-เล็ก

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) "SIRI" กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ว่า เรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีความน่าเป็นห่วง และสถานการณ์ต่างๆ ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง และผลกระทบในเชิงลบมีค่อนข้างเยอะ และน่าจะยาวและแก้ยากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น กำลังซื้อที่ลดลง ค่าเงินบาทที่แข็งกระทบภาคการส่งออก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ซึ่งแน่นอนว่าตลาดอสังหาฯ จะมีการเติบโตไปทิศทางเดียวกับ GDP ของประเทศ โดยจะมีตัวผลักดันที่สำคัญคือ กำลังซื้อของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ากำลังซื้อภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่กลับมาในเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า

"คงต้องรอดูเรื่องวัคซีนที่จะเข้ามา ซึ่งเป็นความหวังสูงสุดของคนไทย เพราะถ้าไม่มีการซื้อขายบ้าน ธุรกรรมหลายอย่างก็จะหยุดชะงักไปด้วย ทั้งการซื้อวัสดุก่อสร้าง สี อิฐ หิน ปูน ทราย เฟอนิเจอร์ เครื่องครัว หลอดไฟ สุขภัณฑ์ ก็จะโดนกระทบทั้งหมด อสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ให้ Multiplier Effect สูงสุด ทางรัฐจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ โดยการใช้มาตรการกระตุ้นในวงกว้าง เช่น มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน หักลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยค่าใช้จ่ายจากการผ่อนบ้านในอัตราที่สูงขึ้น ขยายระยะเวลาการเช่าระยะยาวจาก 30 ปี เป็น 99 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาอยู่ มาท่องเที่ยว ซึ่งจะนำมาซึ่งการใช้จ่าย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในวงกว้าง รวมถึงอยากให้สนับสนุนการเพิ่มกำลังซื้อของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัย โดยให้สถาบันการเงินของรัฐจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก เพื่อให้ผู้ที่ต้องการมีบ้านหลังแรกเข้าถึงได้" นายเศรษฐา กล่าวและย้ำว่า

ถ้าหากเลือกได้ในเรื่องของมาตรการเร่งด่วนในตอนนี้ คือ ควรยกเลิกมาตรการควบคุมสินเชื่อ (LTV) เนื่องจากเป็นเรื่องจำกัดการเก็งกำไรของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นอย่างนั้น และการปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก ซึ่งมาตรการที่รัฐออกมา เหมือนเป็นการฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งมาตรการบางอย่างอาจทำผ่านงบประมาณได้ เช่น โครงการชิม ช้อป ใช้ ที่เป็นการเอาเงินใส่กระเป๋าผู้บริโภค หรือ มาตรการกระตุ้นที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ เช่น การปรับลดดอกเบี้ยลง ซึ่งมีช่องว่างให้ลงอีก แม้ปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ระดับ 0.50% ก็ตาม

สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 2564 จะแตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยอยู่บนพื้นฐานธุรกิจแบบ Conservative โดยจะเปิด 24 โครงการใหม่ รวมมูลค่า 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งเปิดตัวโครงการใหม่ไปทั้งสิ้น 12 โครงการ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 7 โครงการ มูลค่า 12,300 ล้านบาท ทาวน์โฮมและมิกซ์ โปรเจกต์ 12 โครงการ มูลค่า 9,600 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 5 โครงการ มูลค่า 4,100 ล้านบาท อยู่ในเซกเมนต์ Affordable และ Medium เป็นหลัก เพื่อให้แสนสิริเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย ขณะเดียวกัน เราจะขยายฐานลูกค้าในเซกเมนต์ Luxury ด้วยสินค้าใหม่ ทั้งทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว 3 ชั้นภายใต้แบรนด์ใหม่

โดยยอดขายในปีนี้วางเป้า 26,000 ล้านบาท (ปี 63 อยู่ที่ 35,000 ล้านบาท) แบ่งเป็นยอดขายแนวราบ 16,000 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 10,000 ล้านบาท เป้าการโอน 27,000 ล้านบาท (ปี 63 มีตัวเลขการโอนอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท) แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 16,000 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 11,000 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายรอโอนถึง 27,700ล้านบาท

“ปี 2564 ที่นับว่าประเทศไทยและเศรษฐกิจยังมีความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เชื่อว่าในครั้งนี้เราพร้อมสู้มากขึ้นแสนสิริพร้อมที่จะสู้ด้วย “ความหวัง” เราจึงยกให้ปีนี้เป็น “The Year of Hope” ที่ไม่ใช่แค่ความหวังของแสนสิริ แต่เป็นความหวังของลูกค้า สังคม และคนไทยทุกคน”

โดยกลยุทธ์ในการพัฒนาโครงการใหม่นั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า จะมีการนำเสนอราคาที่เข้าถึงง่าย ด้วยโปรดักต์ที่หลากหลายครอบคลุมทำเลกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านแบรนด์ ‘สิริ เพลส’ ‘อณาสิริ’ ‘สราญสิริ’ และ ‘บุราสิริ’ โดยไฮไลต์ที่สำคัญในปีนี้ แสนสิริจะเปิดตัวสินค้าภายใต้แบรนด์ใหม่ เริ่มจากการเปิดตัวสินค้าในราคาที่จับต้องได้ในกลุ่มคอนโดมิเนียม ระดับราคา 1 ล้านบาทต้นๆ ไปจนถึง 2 ล้านบาท กับการเปิดแบรนด์ใหม่ เจาะกลุ่ม Young Generation ในทำเลคอมมูนิตีเมือง เช่น รัชดา เกษตรฯ รามคำแหง และบางนา รวม 4 โครงการ ซึ่งเป็นการรุกสู่ตลาดที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยาของบริษัทอีกครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

รวมถึงการเปิดตัว “SIRI Residence” New segment ทาวน์โฮมระดับบน บนทำเลที่ดินผืนใหญ่ที่หายากใจกลางเมือง ในปีนี้จะมี 2 ทำเลและเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 และการเปิดตัว “BuGaan” แบรนด์ใหม่ของบ้านเดี่ยว 3 ชั้นระดับราคา 30-80 ล้านบาท เจาะกลุ่ม Young Successor ภายใต้จุดขาย Modern LuxuryLiving ในทำเลโยธินพัฒนา เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนซ์ เพียง 14 ยูนิตเท่านั้น โดยเตรียมเปิดขายในไตรมาส 2 ของปีนี้

นอกจากนี้ แสนสิริยังเตรียมส่งมอบโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่อีก 3 โครงการใหม่มูลค่าโครงการรวม 12,200 ล้านบาทในปีนี้ ได้แก่ XT ห้วยขวาง ดีคอนโด ไฮด์อเวย์ รังสิต และเอดจ์ เซ็นทรัล พัทยา

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ทางแสนสิริยังคงยึดกลยุทธ์รับเร็ว รุกเร็ว หรือ “Speed to Market” เพื่อแข่งกับสภาพตลาด ภายใต้ความพร้อมในการปรับตัวที่รวดเร็วตลอดเวลา การพัฒนาโครงการขนาดเล็ก-กลาง มีมูลค่าและจำนวนยูนิตไม่สูงมาก ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างที่ไม่นานเกินไป เพื่อบริหารสินค้าคงค้างที่เหมาะสมและได้กระแสเงินสดกลับมาเร็ว การคำนึงถึงการมีสภาพคล่องที่ดี มีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับควบคุมได้

ขณะที่ตลาดต่างชาติในปีนี้ แสนสิริวางเป้ายอดโอนประมาณ 3,000 ล้านบาท จากการเริ่มโอนโครงการใหม่ ได้แก่ XT ห้วยขวาง และเอดจ์ เซ็นทรัล พัทยา ซึ่งยอดโอนต่างชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สร้างยอดโอนได้กว่า 15,000 ล้านบาท

"อย่างไรก็ดี ในภาวะนี้อาจมีผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก นำโครงการหรือที่ดินออกขาย เมื่อเรา (แสนสิริ) มีความแข็งแกร่งด้านการเงิน ก็เป็นโอกาสในการเลือกซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ได้ เป็นการซื้อโครงการแนวสูง และแนวราบ ไม่ได้ซื้อทั้งบริษัท และได้ซื้อที่ดินเปล่าจากผู้พัฒนาโครงการเข้ามาบ้างแล้ว"

 

เว็บไซต์อ้างอิง : https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000006414

#อสังหาฯ #

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ