อุโมงค์ทะลุรถไฟฟ้า “เจ้าสัวเจริญ” ขอยกเว้นค่าเช่า 17 ล้านเชื่อมศูนย์สิริกิติ์
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2563 ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้มีการพิจารณาการขอก่อสร้างทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง โดยกรมธนารักษ์ ขอสร้างอุโมงค์เชื่อมศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่กำลังปรับโฉมใหม่กับสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระยะเวลา15 ปี จ่ายค่าธรรมเนียมให้ รฟม. ประมาณ 17 ล้านบาท แต่ล่าสุดได้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียม ซึ่งบอร์ดให้ รฟม. ไปเจรจากรมธนารักษ์เพิ่มเติม
นอกจากนี้มีอีก 2 สถานีที่เอกชนขอสร้างทางเชื่อม คือ สถานีลุมพินีมีโครงการ ”วัน แบงค็อก” จะขอสร้างทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้ากับโครงการ อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ในเบื้องต้นจะเช่าระยะเวลา 15 ปี วงเงินค่าธรรมเนียม 30 ล้านบาท ซึ่งจะสูงกว่าสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เนื่องจากเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่
อีกแห่งที่สถานีสีลมมีโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่จะขอสร้างอุโมงค์เชื่อมสถานีกับโครงการ ระยะเวลา 15 ปี ค่าธรรมเนียม 30 ล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบ
ด้าน นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมเสนอขออนุมัติโครงการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมต่อกับสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับบอร์ด รฟม. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้มาใช้บริการทั้งศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สวนเบญจกิติ และโรงงานยาสูบ
โดยเอกชนคู่สัญญา คือ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด จะเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างระยะทางประมาณ 15 เมตร ซึ่งกรมเสนอขอยกเว้นค่าธรรมเนียมจาก รฟม. แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยบอร์ด รฟม.ให้กลับไปดูข้อกฎหมายว่าจะสามารถยกเว้นให้ได้หรือไม่
“ทางเอกชนกำลังปรับปรุงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใหม่ จะแล้วเสร็จในปี 2565 และในแผนกรมจะให้สร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมเข้ากับสถานีรถไฟฟ้าด้วย แต่เอกชนไม่อยากจะลงทุน จึงขอให้กรมเจรจากับ รฟม.ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมกับ รฟม . วงเงิน 17 ล้านบาท ยังไม่ได้ข้อสรุป อยู่ระหว่างการพิจารณา”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และโครงการวันแบงค็อก เป็นธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
ซึ่งศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กรมธนารักษ์ได้ต่อสัญญาเช่าให้กับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ออกไปอีก 50 ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์ จํานวน 18,998.60 ล้านบาท
ส่วนโครงการวันแบงค็อก ดำเนินการโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4 และถนนสุขุมวิท (โรงเรียนเตรียมทหารเดิม) เป็นระยะเวลา 30 ปี ต่อได้อีก 30 ปี รวม 60 ปี ร่วมทุนกับกลุ่มเฟรเซอร์ส พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่พื้นที่ก่อสร้างอาคารรวมกว่า 1.83 ล้าน ตร.ม. มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท จะเปิดเฟสแรกในปี 2565
ส่วนโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ร่วมลงทุนกับโรงแรมดุสิตธานี มูลค่าโครงการ 36,700 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน พื้นที่รวม 440,000 ตร.ม. บนที่ดินกว่า 23 ไร่ ตรงมุมถนนสีลม – พระราม 4
ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย