จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กระทบหลากธุรกิจ รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จากกำลังซื้อที่ลดลง เป็นผลจากการติดเบรกการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค)
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กระทบหลากธุรกิจ รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จากกำลังซื้อที่ลดลง เป็นผลจากการติดเบรกการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ที่เดิมผู้ประกอบการอสังหาฯ คาดการณ์ว่า จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการ (ดีมานด์) ที่อยู่อาศัยของแรงงานในกลุ่มนี้
ทว่า ล่าสุด สมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี ระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปีนี้ ภาพรวมยอดขายทาวน์เฮ้าส์ ในชลบุรี ลดลง 70% ขณะที่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ลดลง 10-20% ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดการณ์แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัดอีอีซี ในปี 2563 ว่าจะมีจำนวน 44,657 ยูนิต ลดลง 11.9% จากปี 2562 มีมูลค่า 78,443 ล้านบาท ลดลง 21.5% จากปี 2562
อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจรวมถึงโครงการในอีอีซี ล่าสุด พานาโซนิค ได้ย้ายฐานการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าไปยังเวียดนามทำให้บรรยากาศตลาดอสังหาฯในอีอีซีไม่ดีนักซึ่งชลบุรีรวมทั้งพัทยา ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก และเป็นตลาดอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ
“ในส่วนของบริษัทมีแผนที่ทำโครงการที่อยู่อาศัยในพัทยาปีนี้ แต่ได้ชะลอโครงการไปก่อน คาดว่าจะเป็นปีหน้า ผมว่าหลายบริษัทส่วนใหญ่ดำเนินการคล้ายกันคือ เน้นขายสต็อกเพื่อให้เงินไหลเข้าส่วนการลงทุนใหม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อไม่ให้เงินไหลออกเป็นสูตรสำเร็จท่ามกลางวิกฤติ”
อิสระ ระบุว่า ปัจจุบัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ยังไม่เห็นผลในการลงทุนทันที แม้มีบางส่วนจะขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอแล้ว ทว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายจะเริ่มดำเนินการต้องใช้เวลา2-3 ปีขึ้นไป คาดว่า บางส่วนอาจต้องชะลอไปด้วย
"รัฐบาลควรต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น การดึงอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ที่มีศักยภาพและสามารถดำเนินการได้เร็วที่สุดมาก่อนเพื่อเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น แทนที่จะเป็นกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามแผนเดิม "
ธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท -ทาวน์เฮ้าส์ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ปีนี้ตลาดทาวน์เฮ้าส์ หรือทาว์นโฮมในต่างจังหวัดซึมไปหลังเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบปัญหาภัยแล้งรวมถึงทำเลในอีอีซีไม่คึกคัก ทำให้บริษัทชะลอการทำตลาดเนื่องจากในโซนอีอีซีที่เศรษฐกิจและกำลังซื้ออิงกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ต้องสะดุดไปจากสถานการณ์โควิด-19
โดยในปี2562 บริษัทได้เปิดตัว 2 โครงการทั้งทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว บ้านแฝด 2 โครงการ ในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ บ้านพฤกษา หนองมนชลบุรี เป็นทาวน์โฮม จำนวน 474 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 1.69 ล้านบาท และเดอะแพลนท์ หนองมน-ชลบุรี จำนวนยูนิต 219 ยูนิต ราคา 2.79 ล้านบาท รวมมูลค่า 2 โครงการ 2,167 ล้านบาทบนพื้นที่ “พฤกษา อเวนิว หนองมน-ชลบุรี” บนพื้นที่90 ไร่ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่กลุ่มครอบครัวเริ่มต้นไปจนถึงครอบครัวขยาย
“ พฤกษาดำเนินงานแบบยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับตัวไปตามสถานการณ์ตลาด เพราะมีการทำวิจัยตลอดค่อนข้างถี่เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อไรที่ตลาดพร้อมเราก็พร้อมที่จะลุยต่อทันที”
ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังรัฐบาลเริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้สถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯกลับมาดีขึ้น มียอดการชมโครงการแนวราบกลับมาเกือบเป็นปกติ จากความต้องการบ้านแนวราบได้ถูกระงับไปในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อบ้านมีความมั่นใจที่จะซื้อบ้านมากขึ้น
แต่ต้องยอมรับว่าตลาดอสังหาฯในโซนอีอีซี ยังไม่กลับมามากนัก เนื่องจากตลาดได้รับผลกระทบจากโควิด-19ส่งผลให้กำลังซื้อหายไปค่อนข้างมากโดยเฉพาะเดือน มี.ค.-เม.ย. แต่เชื่อว่า จะเป็นผลกระทบในระยะสั้น ดังนั้นแผนการทำตลาดโครงการของ ศุภาลัยในโซนอีอีซี ที่มีจำนวน 20 โครงการ ส่วนใหญ่อยู่จ.ชลบุรีและ ระยองนั้น จะยังคงดำเนินต่อไปตามปกติไม่หยุดหรือชะลอโครงการ
ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย