หน้าแรก / อสังหาริมทรัพย์ / บิ๊กเนมอ่วม ดึงเงินซัพพลายเออร์
ธุรกิจอสังหาฯกระอักพิษไวรัสโควิด สต๊อคคอนโดล้นตลาด ดีเวลลอปเปอร์ปรับแผนเน้นขายโครงการสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ตุนเม็ดเงินเข้ากระเป๋า บิ๊กเนมส่อเค้าอ่วมกว่ารายกลาง-เล็ก สินค้าคงเหลือบาน หุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน พบสัญญาณจ่ายเงินซัพพลายเออร์ช้า
อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์หลักตัวหนึ่งที่มีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของจีดีพี โดยแต่ละปีมีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท รวมถึงยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ไม่ว่าธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจรับเหมา ธุรกิจผลิตวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงผูกติดกับจีดีพีของประเทศ
สำหรับปีนี้นับเป็นสถานการณ์ท้าทายผู้ประกอบการ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากช่วงต้นที่ติดเชื้อไม่กี่ประเทศในแถบเอเชีย วันนี้แพร่กระจายไปถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกาและไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าการระบาดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด หลายประเทศต้องประกาศมาตรการปิดเมือง ปิดประเทศรวมถึงไทยด้วย กระทบธุรกรรมด้านเศรษฐกิจแบบเต็มๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว สำหรับอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบข้างเคียงมากกว่า ไตรมาสแรกปี 2563 พบผู้ประกอบการมีการเปิดขายโครงการใหม่ แต่ไม่มาก โดยคอนโดมิเนียมมี 16 โครงการ รวมกันมี 5,880 ยูนิต น้อยสุดในรอบ 8 ปี ขณะที่ธุรกิจจัดสรร ก็จะสร้างในจำนวนที่ลูกค้าจอง จากเดิมที่เน้นสร้างเสร็จก่อนขาย เพื่อลดความเสี่ยง ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ ศูนย์วิจัยข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ประเมินเอาไว้ทั้งปี 2563 มีประมาณ 311,000 หน่วย ลดลงจากปี 2562 ประมาณ17% ด้วยลูกค้าคนไทย และลูกค้าจีนที่เป็นกลุ่มหลักของตลาดต่างชาติล้วนได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดด้วยกันทั้งนั้น
จากปัจจัยที่กล่าวมาแหล่งข่าวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผู้ประกอบการทุกรายอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคือ ยอดขายลด ยอดโอนลด ต้องกลับมาบริหารสต๊อคสินค้าคงเหลือที่มีอยู่ โดยบริษัทรายกลางและเล็ก ซึ่งหันมาเน้นแนวราบก็ปรับแผนสร้างบ้านที่มีลูกค้าจอง ขณะเดียวกันหยุดขยายและเปิดโครงการใหม่ เพื่อขายบ้านในสต๊อคออกไปก่อน
“วันนี้ผู้ประกอบการพยายามหารายได้ หรือเงินเก็บออกมาจ่ายต้นทุนการดำเนินการ และดอกเบี้ย ส่วนเงินที่ต้องจ่ายให้กับซัพพลายไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้างหรือผู้รับเหมาชะลอไปก่อน”
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่น่าจะรับผลกระทบหนักกว่า เพราะ 3 ปีที่ผ่านมารายใหญ่ขยายโครงการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เท่ากับมีพนักงานมากมายตามการขยายโครงการ เป็นต้นทุนของบริษัท ยิ่งขณะนี้คอนโดมิเนียมเหลือบาน ไม่เพียงเท่านี้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการออกหุ้นกู้เข้ามาใช้ในการขยายตลาด และปีนี้มีหุ้นกู้หลายบริษัทที่กำลังถึงกำหนดจ่ายคืน เป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่โถมเข้าใส่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ดังนั้น ถ้าเป็นบริษัทที่มีสต๊อคคอนโดมิเนียมมีไม่มาก และสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ต่ำ ถือว่ามีภูมิต้านดี แต่สำหรับบริษัทที่มีสต๊อคคอนโดมิเนียมคงเหลือจำนวนมาก อัตราหนี้ต่อรายได้สูง ย่อมได้รับผลกระทบสูง ส่วนดีเวลลอปเปอร์ขนาดเล็ก ขนาดกลาง นั้นที่ผ่านมา สถาบันการเงินให้กู้ต่ำ และออกหุ้นกู้ได้น้อย ดังนั้น การลงทุนที่ผ่านมา ก็ไม่มาก Low risk , Low investment
เมื่อเกิดเหตุเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด มีซัพพลายเออร์กล่าวว่า บิ๊กเนมบางบริษัทปรับตัวเน้นขายของเก่า และสร้างเฉพาะที่มีลูกค้าจอง แต่เริ่มจ่ายเงินซัพพลายเออร์ช้าลง บางบริษัทก็ไม่ชำระเป็นเงิน แต่ให้มาเลือกห้องชุดแทน ซึ่งสถานการณ์นี้คล้ายๆกับวิกฤติต้มยำกุ้ง มีผู้ประกอบการบางรายเกิดปัญหาสภาพคล่องตั้แต่ปีก่อน เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา ฉวยโอกาสดึงการจ่ายเงินค่าวัสดุช้าลง
“หากสถานการณ์แพร่ระบาดลากยาว และภาครัฐยังปิดเมือง ปิดกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชนให้พนักงานทำงานที่บ้าน ธุรกิจอสังหาฯอาจจะซึมยาวถึงปลายปีนี้คาดว่าตลาดอสังหาฯติดลบแน่"
ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย