EEC : เมืองอัจฉริยะ ประชากร : อัจฉริยะ

เมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ จะเกิดได้จริงหรือไม่ในพื้นที่ EEC บทความนี้มีคำตอบ

ตามนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นั้นมีจิ๊กซอว์อยู่หลายตัวที่จะรวมกัน ประกอบขึ้นมาเป็น EEC การจัดการพื้นที่ที่ทันสมัย และอัจฉริยะในทุกมิติ ทำให้หลายพื้นที่ใน EEC เริ่มวางเป้าให้ตัวเองเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แต่เส้นทางการเดินไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเป็นอัจฉริยะของคนที่ฝันด้วย

คำว่าเมืองอัจฉริยะนั้น ตามประกาศของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เปิดให้โดยผู้บริหารพื้นที่ใดที่สนใจพัฒนาพื้นที่ของตนเอง หรือท้องถิ่นตนเองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ก็ต้องนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อพิจารณา

การเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ ทั้งทางด้านภาษี สิทธิประโยชน์ในการลงทุน (การนำเข้าเครื่องจักร และขยายเวลาลดภาษีรายได้บุคคล) และการสนับสนุนจากรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้มีภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ และองค์การบริหารพื้นที่หลายแห่งได้ยื่นข้อเสนอเป็นเมืองอัจฉริยะ จำนวนหลายแห่ง

โครงการเมืองอัจฉริยะกว่า 27 เมืองขอยื่นเป็นเมืองอัจฉริยะ แต่ก็มีเพียง 2-3 เมืองเท่านั้นที่ได้รับคัดเลือกเมื่อปลายปี 2562 ที่ได้เป็นเมืองอัจฉริยะตามเงื่อนไขดังกล่าว โดยในพื้นที่ EEC นั้น มีเพียงโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเดท รวมทั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC of Innovation) และสมาร์ทซิตี้มหาไถ่ (กระทรวงดีอี) เท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะ

โดยเป็นพื้นที่ปิดและสร้างขึ้นมาใหม่ มีผู้บริหารชัดเจน ง่ายในการควบคุม และลงทุนโครงการต่างๆ สามารถทำให้สอดคล้องและออกแบบภายใต้องค์กรเดียวกัน ส่วนโครงการอื่นๆ ในพื้นที่ EEC ที่คาดว่าจะได้รับคัดเลือกเป็นสมาร์ทซิตี้ในเร็วๆ นี้ ได้แก่ ชลบุรีสมาร์ทซิตี้ (พนัสนิคม) และชลบุรี สมาร์ทซิตี้ (ศรีราชา) และ Rayong smart learning and living

พื้นที่เหล่านี้กำลังพยายามใช้โมเดลของการพัฒนาเมืองให้มีความสมดุลของการใช้ชีวิต ทั้งในด้านการทำงาน พักผ่อน และที่อยู่อาศัย แต่การจะเป็นจริงๆ นั้นต้องใช้เวลา ความต่อเนื่องของโครงการ และประชาชนในพื้นที่ต้องการจริงๆ และต้องผลักดันให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ประกาศเจตนารมย์เป็นสมาร์ทซิตี้ของพื้นที่เดิมที่เปิดกว้าง ส่วนมากเป็นผู้บริหารท้องถิ่นนั้นที่เป็นเจ้าของโครงการ และเริ่มเรียกร้องการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลาง สิทธิประโยชน์ต่างๆ ชุมชนมีความเข้าใจในเป้าหมายของการเป็นสมาร์ทซิตี้น้อย บางส่วนคิดหาประโยชน์ให้กลุ่มตัวเอง ในการเป็นสมาร์ทซิตี้ เช่น การเรียกร้องสิทธิที่ดิน ภาษี ฯลฯ ทำให้ความก้าวหน้าโครงการเป็นไปอย่างช้าๆ และหลายแห่งก็เงียบไปเฉยๆ

ดังนั้น ในระยะสั้น เราอาจเห็นความสำเร็จของสมาร์ทซิตี้ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC นั้นจะอยู่ในพื้นที่ปิดและมีผู้เกี่ยวข้องมีจำนวนจำกัด มีเป้าหมายชัดเจน และผู้เกี่ยวข้องมีประโยชน์ร่วมกันที่ชัดเจน เช่น นิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองใหม่ที่สร้างทุกอย่างขึ้นใหม่

ส่วนสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่เดิมยังมีความท้าทายและอุปสรรคมากพอควร โดยเฉพาะการเมืองท้องถิ่นและโดยเฉพาะชุมชนที่ต้องอดทน เข้าใจ และออกแรงร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะ Smart City ต้องเริ่มต้นจาก Smart people ก่อน

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862945

#เมืองอัจฉริยะ #สมาร์ทซิตี้ #EEC

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ