หลังจากพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติหลายหน่วยงาน ทำให้ประชาชนเข้าไปสอบถามวิธีปฏิบัติกับส่วนราชการทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จึงจัดทำข้อชี้แจงผ่านเว็บไซต์ www.dla.go.th เพื่อตอบคำถามให้ประชาชนได้ความกระจ่างมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
1.การยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องมาด้วยตนเองหรือไม่
ไม่จำเป็นต้องมาด้วยตนเอง สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาแจ้งแทน หรือส่งทางไปรษณีย์ หรือวิธีการอื่นที่ ธปท.กำหนด
2.บุคคลทั่วไปสามารถมีบ้านหรือห้องชุด เพื่ออยู่อาศัยได้กี่หลัง
สามารถมีบ้านหรือห้องชุดได้หลายหลัง แต่เจ้าของบ้านหรือห้องชุดนั้นจะได้รับยกเว้นต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1.เป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเจ้าของบ้าน มีชื่อในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นหากมีมูลค่าของที่ดินและบ้านรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท
2.เป็นเจ้าของบ้าน มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินจะได้รับยกเว้นภาษี หากมีมูลค่าของบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท
3.กรณีบ้านหรือห้องชุดที่ซื้อไว้เพื่ออยู่อาศัยเองหรือให้คนในครอบครัวอยู่อาศัย แต่ยังไม่ได้เข้าไปอยู่อาศัยหรืออยู่อาศัยไม่ตลอดทั้งปี จะต้องเสียภาษีหรือไม่ ในอัตราใด
ต้องเสียภาษีแต่เสียในอัตราอยู่อาศัย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1.หากเป็นเจ้าของบ้านหรือห้องชุด มีชื่อในทะเบียนบ้านได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
2.หากเจ้าของบ้านหรือห้องชุด ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัยเริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
4.กรณีคอนโดมิเนียม (ห้องชุด) ถ้ามีสองห้องติดกันและเปิดหากันได้ แต่ได้รับหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุด 2 ฉบับ จะถือว่าได้รับยกเว้นทั้งสองหลังหรือไม่
ห้องชุดพิจารณาแยกตามหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ของห้องชุดแต่ละห้อง เมื่อมีหนังสือได้ 2 หลัง แม้จะเปิดทะลุหากันได้ ก็ไม่สามารถรวมพื้นที่เพื่อยกเว้นมูลค่าฐานภาษีได้ ดังนั้นหลังที่สองจะเป็นหลังอื่นทันทีเพื่อต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
5.ชาวต่างชาติมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ทร.13) ซื้อห้องชุดไว้ 2 ห้อง ในต่างท้องที่กัน ต้องเสียภาษีหรือไม่ ถ้าเสียจะเสียภาษีอย่างไร
ต้องเสียภาษีเหมือนคนไทยทั่วไป โดยได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท เพียงห้องเดียว ส่วนอีกห้องจะถือเป็นหลังอื่น หากใช้เพื่ออยู่อาศัยก็ต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
6.อาคารที่สร้างไว้แต่ไม่ได้อยู่อาศัย ไม่ได้ค้าขาย ปล่อยทิ้งว่างไว้ จะทำอย่างไร
สิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่ปล่อยทิ้งไว้ว่างเปล่าไม่ได้ทำประโชยน์ตามควรแก่สภาพตลอดปีที่ผ่านมา จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ร้อยละ 0.3 ตามมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป และหากไม่ทำประโยชน์อีก จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3 ทุก 3 ปี
7.ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของบิดามารดาหรือบุคคลอื่นโดยไม่เสียค่าเช่า และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้รับยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท เจ้าของที่ดินเสียภาษีอย่างไร ในอัตราที่อยู่อาศัยหรือในอัตราอื่น ๆ
บ้านได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่ที่ดินของบิดามารดาต้องเสียภาษี เมื่อที่ดินใช้เพื่ออยู่อาศัย ต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
8.กรณีโรงงานมีทรัพย์สินหลายประเภท เช่น สำนักงาน ห้องน้ำ โกดัง จะคิดภาษีอย่างไร
สำนักงาน ห้องน้ำ และโกดัง เป็นสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการ ดังนั้น จึงต้องเสียภาษีในอัตราอื่น ๆ
9.บริษัทเป็นผู้สร้างบ้านและให้พนักงานหรือคนงานอยู่อาศัยโดยไม่มีชื่อผู้อาศัยในทะเบียนจะต้องเสียภาษีในประเภทที่อยู่อาศัยหรืออื่น ๆ
บ้านของบริษัทที่สร้างเพื่อให้พนักงานหรือคนงานอยู่อาศัยต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
10.บ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จอยู่ในระหว่างการก่อสร้างบ้านพักอาศัย จะถือเป็นสิ่งปลูกสร้างทื่ต้องเสียภาษีหรือไม่
บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ไม่ถือเป็นสิ่งปลูกสร้าง จึงเสียภาษีเฉพาะที่ดินประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย