ไม่โมฆะ! กทม.โต้คลังยันให้แจ้งสถานะซื้อคอนโดฯ ปฏิบัติตามแนวทางกฎหมายภาษีที่ดินทุกประการ


27 / 12 / 2019

สำนักการคลัง กทม.แจง หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อยุติเกี่ยวกับประเภทการใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย พร้อมแจ้งแนวทางให้ กทม.ทราบแล้ว กทม.สามารถแก้ไขประกาศและบัญชีรายการได้ โดยประชาชนไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไข ณ เขตพื้นที่

นายธรรมรัตน์ มุกมีค่า ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. เปิดเผยถึงกรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมออกประกาศยกเว้นแจ้งประเภทที่อยู่อาศัย และให้จดหมายการแจ้งบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากกรุงเทพฯ ซึ่งส่งไปยังประชาชนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นโมฆะ นั้น

ขอเรียนชี้แจงว่า กทม.ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งได้จัดทำโดย กลุ่มงานนโยบายการคลังและพัฒนารายได้ สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำหรับกรณีประกาศบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด ที่กมม.ได้ประกาศ พร้อมทั้งแจ้งบัญชีรายการไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ละรายทราบนั้น

กทม.ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมายและไม่เป็นโมฆะแต่อย่างไร โดยในส่วนของประเภทการใช้ประโยชน์ประเภทที่อยู่อาศัยที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ หากประชาชนตรวจสอบบัญชีรายการแล้วพบว่า ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง

ดังนี้ 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบพบว่าบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจสั่งแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562

2.ผู้เสียภาษีตรวจสอบรายการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่น ขนาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือลักษณะการใช้ประโยชน์ ไม่ตรงตามความเป็นจริง ให้ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำเนินการ ดังนี้

1.มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานสำรวจดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ให้เจ้าพนักงานสำรวจรายงานให้ผู้บริหารท้องถิ่นทราบ 2.เจ้าพนักงานสำรวจแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3.แจ้งผลการดำเนินการให้ผู้เสียภาษีทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องจากผู้เสียภาษี

หากกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้ข้อยุติเกี่ยวกับประเภทการใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย โดยเวียนแจ้งแนวทางปฏิบัติให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) กทม.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ในการแก้ไขประกาศและบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดได้ โดยประชาชนไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไข ณ สำนักงานเขต

ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้ดำเนินจัดส่งแบบแจ้งรายการห้องชุด (ภ.ด.ส.4) ไปยังเจ้าของห้องชุดในพื้นที่กรุงเทพฯแล้ว ขอให้เจ้าของห้องชุดที่ได้รับเอกสารแจ้งข้อมูลรายการห้องชุด ตรวจสอบข้อมูล เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ ชื่ออาคารชุด เลขที่ห้อง พื้นที่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ เป็นต้น

หากพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ขอให้เจ้าของห้องชุดยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบรายการให้ถูกต้อง โดยสามารถติดต่อด้วยตนเองที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตพื้นที่ที่ห้องชุดนั้นตั้งอยู่ หรือหากไม่สะดวกมาติดต่อที่สำนักงานเขต สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด (QR code) ด้านหลังซองจดหมายเพื่อทำการขอแก้ไขบัญชีรายการห้องชุด (ภ.ด.ส.4) อนึ่ง QR code ที่อยู่ด้านหลังของจดหมาย

จะไม่สามารถใช้ทำการแก้ไขบัญชีรายการข้ามเขตได้ หมายถึง หากบุคคลใดมีห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมมากกว่า 1 ห้องและอยู่ในหลายพื้นที่เขต ต้องใช้ QR code ของจดหมายเขตนั้นๆ ในการยื่นแก้ไขบัญชีรายการ หรือสามารถจัดส่งแบบคำร้องขอแก้ไขทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ที่ห้องชุดนั้นตั้งอยู่

ทั้งนี้ การขอแก้ไขขอให้จัดส่งเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน เช่น สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น ตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนมี.ค.63

ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดในเขตกรุงเทพมหานคร และการจัดทำประกาศบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบนั้น ที่ผ่านมา

กทม.มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้ 1. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2146/2562 ลงวันที่ 2 ก.ย.62 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยภาษีดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยได้แต่งตั้งพนักงานสำรวจ พนักงานประเมิน และพนักงานเก็บภาษี ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

2. ได้ประกาศกำหนดระยะเวลาในการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด ในเขตกรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.62 เป็นต้นไป ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

3. ภายหลังจากพนักงานสำรวจได้ดำเนินการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดแล้วเสร็จ กทม.ได้จัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส.3) และห้องชุด (ภ.ด.ส.4) พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

4. กทม.โดยสำนักการคลัง ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับเจ้าหน้าที่กองรายได้ สำนักการคลัง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ทุกสำนักงานเขต โดยแบ่งการสัมมนาออกเป็น 3 รุ่น ๆ ละ 200 คน ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้แทนกรมธนารักษ์ มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

ซึ่งผู้แทนกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตอบข้อซักถามในที่ประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาประเภทการใช้ประโยชน์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดหลายห้องว่าควรเป็นประเภทใด และผู้แทนกรมส่งเสริมฯ ได้ตอบข้อซักถามโดยให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีดังกล่าวเห็นควรกำหนดเป็นประเภทอื่นๆ ไปก่อน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบแล้ว นำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ใช้เป็นแนวทางและถือปฏิบัติ

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.prachachat.net/property/news-405671

#คอนโดฯ #กฎหมายภาษีที่ดิน #ภาษีที่ดิน #ที่อยู่อาศัย

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ