อัดฉีดเม็ดสุดท้ายก่อนสิ้นปี กับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จากทางรัฐบาล


17 / 11 / 2019

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ นับว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่ออกตามมติครม. ในวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนหรือกลุ่มผู้ซื้อบ้านและคอนโด (นอกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ยังมีมาตรการชิม ช็อป ใช้ และอื่นๆ อีกรวมอยู่ด้วย) ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เม็ดสุดท้าย ที่ช่วยอัดฉีดเร่งรัดการตัดสินใจของผู้ซื้อบ้านและคอนโด ก่อนสิ้นปี 2562 ได้อย่างดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

.

    มติครม. ได้อนุมัติมาตรการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ อยู่ 2 ส่วน คือ
1) การลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม และ
2) การให้วงเงินสินเชื่อพิเศษ

  1. การลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม นับว่าเป็นการลดรายจ่าย ของผู้ซื้อบ้านและคอนโดอย่างแท้จริง โดยมาตรการที่ออกมาแบ่งออกเป็น การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง โดยสรุปได้ดังนี้

สรุปนโยบายการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม

ค่าธรรมเนียม

เดิม

มาตรการกระตุ้นฯ

หมายเหตุ

การโอนฯ

2%

0.01%

ของค่าบ้านและคอนโด

การจดจำนอง*

1%

0.01%

ของค่าบ้านและคอนโด


* เฉพาะผู้ซื้อบ้านและคอนโดที่ขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงิน หรือสรุปได้ว่าผู้ซื้อบ้านเงินสดจะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ทั้งนี้คนซื้อบ้านฟังแล้วก็อย่าเพิ่งดีใจไป โดยในใจความของมาตรการนี้ได้เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ซื้อบ้านและคอนโดในระดับราคาปานกลาง (ไม่เกิน 3 ล้านบาท) ดังนั้นผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามมาตรการข้างต้น ต้องมีเงื่อนไขดังนี้

เงื่อนไข 

  • ที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

  • ต้องเป็นบ้านมือหนึ่ง หรือพูดได้ว่าไม่รองรับบ้านมือสอง 

  • บ้านหรือคอนโดต้องสร้างเสร็จพร้อมโอนฯ จากผู้ประกอบการอสังหาฯ

  • มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 ถึงวันที่ 24 ธ.ค. 2563

  • การจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน

 

โดยจากมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปถึงประมาณ 2,652 ล้านบาท อย่างไรก็ตามนอกจากการลดรายจ่ายของฝั่งผู้ซื้อบ้าน ยังรวมไปถึงการลดต้นทุนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนนี้ ปกติทางผู้ประกอบการอสังหาฯ จะมีแนวทางออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่งกับผู้ซื้อ หรือ ออกคนละ 1% ซึ่งจากการออกมาตรการนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ และผู้ซื้อจะมีค่าธรรมเนียมลดลงเหลือ เพียงฝั่งละ 0.005% หรืออาจเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการ ฯ จะเสียค่าใช้จ่ายค่าโอนฯ ให้แก่ผู้ซื้อบ้านทั้งหมดเลย ก็ยังได้ (ปกติ บ้าน 1 ล้านบาท จ่ายค่าโอนฯ 20,000 บาท หากพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ จะเหลือค่าโอนเพียง 100 บาท)

  1. การให้วงเงินสินเชื่อพิเศษ ส่วนนี้รัฐบาลได้สนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านทาง ธอส. หรือธนาคารอาคารสงเคราระห์ ซึ่งเป็นรูปแบบสินเชื่อพิเศษ ในอัตราจูงใจผู้ซื้อบ้านและคอนโดที่ 2.5% ใน 3 ปีแรก (ปกติทางสถาบันทางการเงินจะให้ Fixed Rate ที่ประมาณ 3.0-3.5% เพียงปีแรก) ซึ่งนับว่าเป็นอัตราสินเชื่อที่ต่ำกว่าตลาดในปัจจุบันมาก โดยจากการคำนวณเงินงวดของธนาคารฯ หากวงเงินกู้ที่ 1 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปีแรก ผู้กู้จะประหยัดเงินงวดได้ถึงจำนวน 80,400 บาทเลยทีเดียว

 


 

ทั้งนี้สอดคล้องกับมาตรการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม โดยมาตรการให้วงเงินสินเชื่อนี้ก็ได้เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ซื้อบ้านและคอนโดในระดับราคาล่างถึงปานกลาง (ไม่เกิน 3 ล้านบาท) เช่นกัน ดังนั้นผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามมาตรการข้างต้น ต้องมีเงื่อนไขดังนี้

เงื่อนไข 

  • ที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

  • บ้านหรือคอนโดต้องสร้างเสร็จพร้อมโอนฯ จากผู้ประกอบการอสังหาฯ

  • มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.2562 ถึงวันที่ 24 ธ.ค. 2563 หรือเต็มกรอบวงเงินการให้สินเชื่อ จำนวน 50,000 ล้านบาท

โดยจากมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปถึงประมาณ 1,182 ล้านบาท ซึ่งหากผู้ที่สนใจก็ต้องรีบดำเนินการขอสินเชื่อ เนื่องจากมาตรการดังกล่าว มีการจำกัดกรอบวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท หรือเรียกได้ว่าหมดแล้วหมดเลย

จาก 2 มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทั้ง การลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม และ การให้วงเงินสินเชื่อ ที่ได้กล่าวไป ทางทีมงาน Tooktee.com คาดการณ์ว่าจะสามารถกระตุ้นการซื้อบ้านและคอนโด ได้ในไตรมาส 4 ปี 2562 นี้ จนไปถึงในสิ้นปี 2563 ปีหน้าด้วย เนื่องจากผลบังคับใช้มาตรการจะมีอยู่ถึง วันที่ 24 ธ.ค. 2563 ทั้ง 2 มาตรการ ซึ่งต้องรอดูกันว่าจะส่งผลทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะกลับมาคึกคักอีกครั้งได้มากน้อยเพียงใด

เว็บไซต์อ้างอิง :

#ซื้อบ้านและคอนโด #อสังหาริมทรัพย์

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ