มองอนาคตไปกับ ไทยแลนด์ สมาร์ทซิตี้

อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อหลายจังหวัดในประเทศไทยเริ่มมีการนำร่องพัฒนาโครงการ Smart City หรือเรียกภาษาไทยคือ “เมืองอัจฉริยะ” ที่มีการขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 หรือ 2 ปีที่ผ่านมา แต่อาจดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน ซึ่งวันนี้ Tooktee.com จะมาสรุปข้อมูล Smart City เพื่อให้ท่านได้ทันเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น โดยมีหัวข้อดังต่อไปนี้

- ความหมายของ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ

- ความ Smart ทั้ง 7 แบบ

- ที่ไหนเริ่มมีการพัฒนา Smart City กันบ้าง

- แผนในอนาคต ???

ความหมายของ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ

 

โดยตามนิยามเมืองอัจฉริยะของ สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น “เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน

หรือสรุปใจความสำคัญได้ตามรูปด้านล่าง

รูปบทความ มองอนาคตไปกับ ไทยแลนด์ สมาร์ทซิตี้
 

ความ Smart ทั้ง 7 แบบ

 

ไม่ใช่ว่าทุกเมืองจะเป็น Smart City ในรูปแบบเดียวกัน หากเปรียบเป็น “คน” อาจจะมีความสมาร์ทในท่าทางบุคลิก สมาร์ทในความสามารถ หรือสมาร์ทในทรรศนคติ ไม่ต้องสมาร์ทแบบเดียวกันก็ได้ ดังนั้น สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย จึงได้แบ่งความ Smart หรือ สมาร์ท ของเมืองนั้นออกเป็น 7 แบบ ดังนี้

1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ตลอดจน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ธรรมชาติ

2. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการ ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

3. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุล ระหว่างการผลิตและการใช้พลังงาน และลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

4. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เมืองที่พัฒนาระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ประชาชน ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้น ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม

5. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต

6. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

7. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

รูปบทความ มองอนาคตไปกับ ไทยแลนด์ สมาร์ทซิตี้

 

ที่ไหนเริ่มมีการพัฒนา Smart City กันบ้าง

ปัจจุบันมีการพัฒนา Smart City ทั้งหมด 10 เมือง ตั้งอยู่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งแบ่งความ สมาร์ททั้ง 7 แบบ (ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า) ตามจุดเด่นของแต่ละเมือง ดังนี้

1. เชียงใหม่ จุดเด่นด้านการท่องเที่ยว (Tourism) จึงได้มีแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวและการเกษตรที่ยั่งยืน โดยมีพื้นที่ถนนนิมมานเหมินทร์ – มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นจุดเริ่มต้น

2. ขอนแก่น มุ่งพัฒนาขอนแก่นเป็นเมืองศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Smart Living) โดยพัฒนาระบบศูนย์สั่งการด้านการแพทย์อัจฉริยะ รวมไปถึงแผนการขนส่งของภูมิภาคที่มีการพัฒนาระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยการลงทุนจากภาคเอกชน

3. ภูเก็ต เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน ภูเก็ตจึงมีแผนการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ โดยพัฒนาขนส่งเมืองชนเมืองทั้ง ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) และ Smart Bus รวมไปถึงพัฒนาระบบบริหารจัดการขาย (Waste) และรองรับภัยพิบัติธรรมชาติ (Disaster)

4-6. ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา (EEC) สอดคล้องกับแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จึงได้มีการพัฒนา Smart City ในหลากหลายด้าน อาทิ Smart Economy ที่มีการส่งเสริม Starups ที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล จำนวน 14 ราย Smart Mobility ที่มีการพัฒนา Smart Port ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และ Smart Bus (รถโรงเรียน) ในพื้นที่แหลมฉบัง

7. กรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่มีการพัฒนาคือบริเวณชุมทางบางซื่อ หรืออีกชื่อคือ “เมืองอัจฉริยะศูนย์คมนาคมพหลโยธิน” ให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมและธุรกิจแห่งใหม่ที่เชื่อมต่อพื้นที่กรุงเทพฯ กับภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิภาคอาเซียน และจีน รวมไปถึงแผนการพัฒนา Smart Economy ที่จะพัฒนาเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ ศูนย์กลางการค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า (MICE) ในอนาคต เป็นต้น

ในส่วนของ Smart Government ที่เมืองส่วนใหญ่มีการพัฒนาจะเป็นด้าน IOC (Intelligent Operation Center) หรือ ศูนย์ปฏิบัติการในระดับต่างๆ ของภาครัฐแบบอัจฉริยะ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางประมวลผลสารสนเทศ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์และเชิงสถานการณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รูปบทความ มองอนาคตไปกับ ไทยแลนด์ สมาร์ทซิตี้

 

แผนในอนาคต ???

จากแผนนำร่องในปัจจุบัน จะนำไปสู่แผนในอนาคตโดยแผนในปีพ.ศ. 2562-2563 ทางสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 30 เมือง ใน 24 จังหวัด ตลอดจนถึงปีพ.ศ.2565 ซึ่งไม่นานเกินรอ จะมีแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะถึง 100 เมือง ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ซึ่งเรียกได้ว่าครอบคลุมทั่วประเทศเลยทีเดียว

 

รูปบทความ มองอนาคตไปกับ ไทยแลนด์ สมาร์ทซิตี้

 

จากการพัฒนาเมืองที่ได้กล่าวไปพบว่ามีการร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นและตัวอย่างที่ดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในเมืองอัจฉริยะหรือพื้นที่ใกล้เคียง ก็อาจต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับการพัฒนาต่างๆ ของเมืองที่จะเกิดขึ้นร่วมด้วย อย่างไรก็ตามหากมีข่าวสารใหม่ๆ เกี่ยวกับด้านเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ทาง เว็บไซต์ Tooktee.com จะอัพเดดให้ท่านได้อ่านกันอย่างไม่ตกเทรนด์แน่นอน

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.smartcitythailand.or.th/

คำค้น: #Smartcity
#สมาร์ทซิตี้ # Smart City #เมืองอัจฉริยะ

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

รายการ