'พฤกษา' ชูโมเดล 'FMCG' ติดสปีดฝ่าวิกฤติอสังหาฯ ฟุบ


13 / 11 / 2019

“พฤกษา”รับปีนี้ยอดขายพลาดเป้า หลังเผชิญปัจจัยลบฉุดภาพรวมอสังหาฯทรุด ประเมินต่อเนื่องปี 63 งัดกลยุทธ์ FMCG ติดสปีดธุรกิจหมื่นล้าน รับมือคลื่นการเปลี่ยนแปลงเร็ว-แรง ผนึกแบงก์เร่งปล่อยสินเชื่อดันยอดขาย

จากมูลค่าตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ติดลบถึง 35% ขณะที่ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ติดลบ 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น คอนโดมิเนียมติดลบ 28% บ้านเดี่ยวติดลบ20% และทาวน์เฮ้าส์ติดลบ 8% สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทพัฒนาอสังหาฯทั่วหน้า ไม่เว้น “พฤกษา” ผู้นำตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่าง สะท้อนจากผลการดำเนินการในไตรมาส 3 และ 9 เดือนของปี 2562 ที่ปรับตัวลดลง

นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไนไตรมาส 3 บริษัทมียอดขาย 14,113 ล้านบาท ลดลง 4.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ 916 ล้านบาท ลดลง 42.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วง 9 เดือน ทำยอดขายได้ 37,480 ล้านบาท ลดลง 3.7% มีรายได้ 28,179 ล้านบาท ลดลง6.8% และมีกำไร 3,534 ล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการดำเนินงานจะปรับตัวลดลง แต่ประเมินว่าบริษัทยังทำได้ดีกว่าตลาดรวมที่มีกำลังซื้อชะลอตัว โดยในช่วงไตรมาส 3  บริษัทมียอดจองโครงการใหม่สูง 30% ทำได้ดีกว่าตลาดที่มียอดจองอยู่ที่ 27% และยังคงครองความผู้นำตลาดอสังหาฯ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 12% 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พฤกษา ยังคาดการณ์แนวโน้มตลาดอสังหาฯในปี2563 ว่า ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ ทั้งจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบกำลังซื้อ มาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯ (แอลทีวี) สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ค่าเงินบาทแข็ง การบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลกระทบทางจิตวิทยากับผู้บริโภค อัตราค่าแรงที่ส่อปรับตัวสูงขึ้น

แม้จะมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง จากการที่รัฐประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01%ของราคาประเมิน ไปจนถึง 24 ธ.ค.2563 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัย และความต้องการที่อยู่อาศัยในไทยของนักลงทุนจากฮ่องกงที่เกิดเหตุการประท้วงขึ้นภายในประเทศ ก็ตาม

คาดอสังหาฯปี63ยังเหนื่อย

“ภาพรวมธุรกิจอสังหาฯปี2563 ยังเหนื่อยและยาก เงินเข้ายาก เงินออกก็ให้ง่าย ฉะนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะในการใช้ชีวิต ในแง่ธุรกิจ แผนธุรกิจมีความยืดหยุ่น

หวังว่า รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมออกมามากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหากำลังซื้อ อารมณ์ซื้อกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้สูงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ได้ช่วยให้ตลาดฟื้นตัว สิ่งที่ทำให้ยอดขายที่ผ่านมาดีกว่าตลาดเกิดจาก Fighting Spirit ของทีมงานทุกคนในการดิสรัป ทรานฟอร์มตัวเอง และองค์กรในรูปแบบใหม่ให้สามารถเดินไปต่อในปีหน้าและอนาคตได้อย่างแข็งแรง ” นางสุพัตรา กล่าว

ชูเอฟเอ็มซีจีเคลื่อนธุรกิจ

ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้รวดเร็วขึ้น เหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG : Fast Moving Consumer Goods) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันได้ผนึกพันธมิตรกับสถาบันการเงินให้อนุมัติสินเชื่อเร็วขึ้น นำไปสู่การเร่งโอน นอกจากนี้ยังต้องเลือกเปิดโครงการที่มีศักยภาพ จับกลุ่มเรียลดีมานด์เป้าหมาย (ความต้องการที่แท้จริง) พร้อมเร่งระบายสต็อกที่เหลือ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดสินค้าที่อยู่ระหว่างดำเนินงานและบริหารจัดการที่ดินเพื่อลดสินค้าคงค้างให้น้อยลง รวมทั้งควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งหากลยุทธ์ใหม่ๆเพื่อให้อยู่รอดในภาวะตลาดชะลอตัว 

อาทิ การจัดแคมเปญโปรโมชั่นร่วม Shopee รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการ ‘บ้านในฝัน รับปีใหม่’ ของกระทรวงการคลังที่ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เพื่อกระตุ้นยอดขายที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต

ขณะที่ตลาดอสังหาฯปี 2562 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รวมไปถึงมาตรการแอลทีวี ส่งผลให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น โดยเฉพาะเซกเมนต์ระดับล่าง สังเกตได้จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น จากภาพรวมของพฤกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 8% คอนโด 5% บ้านเดี่ยว 6% และทาวน์เฮ้าส์สูงถึง15% จากปกติ 5-7%

คาดรายได้ปีนี้ต่ำกว่าเป้า

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเมินว่า แนวโน้มรายได้รวมในปี 2562 ว่า น่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ 45,000 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ประเมินว่าจะเป็นไตรมาสที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงสุด โดย สิ้นไตรมาส 3 บริษัทมียอดขายรอโอน(Backlog) มูลค่ารวมกว่า 42,534 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ช่วงที่เหลือของปี 2562-2565 โดยในช่วงไตรมาส 4นี้ จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 16,092 ล้านบาท ในปี 2563 จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 10,024 ล้านบาท ในปี 2564 จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 13,937 ล้านบาท และในปี 2565 จะรับรู้รายได้ส่วนที่เหลือ 2,481 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าพร้อมขาย (สต็อก) ไตรมาส 3 จำนวน 5,638 ยูนิต มูลค่ารวม 18,300 ล้านบาท แบ่งเป็น สินค้าประเภทบ้านเดี่ยว จำนวน 708 ยูนิต มูลค่ารวม 4,300 ล้านบาท, สินค้าประเภททาวน์เฮาส์ จำนวน 2,552 ยูนิต มูลค่ารวม 8,100 ล้านบาท, สินค้าประเภทคอนโดมิเนียม จำนวน 2,169 ยูนิต มูลค่า 5,200 ล้านบาท และสินค้าในระดับพรีเมียม จำนวน 209 ยูนิต มูลค่ารวม 700 ล้านบาท ทั้งนี้ สต็อกทั้งหมดเป็นสินค้าในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต ประมาณ 34% คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 6,222 ล้านบาท หรือ จำนวน 2,000 ยูนิต

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/854338

#พฤกษา #อสังหาฯ #สินเชื่อ #อสังหาริมทรัพย์ #ตลาดที่อยู่อาศัย

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ