พลิกโฉม ที่ดิน“คลองเตย” การท่าเรือฯ เทียบชั้น เอเชียทีค ‘เจ้าสัวเจริญ’


31 / 10 / 2023

“มนพร” พลิกโฉม ที่ดินคลองเตย กทท.ริมเจ้าพระยา17 ไร่ นอกแผนแม่บท 2,353 ไร่  ยกระดับ ศูนย์ช้อปปิ้งแห่งใหม่ ท่องเที่ยวทางน้ำ เทียบชั้นเอเชียทีค “เจ้าสัวเจริญ”  ลากทางด่วนบูมพื้นที่               

ที่ดินในมือของรัฐวิสาหกิจหลายแปลงน่าจับตาและสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับองค์กร อย่าง ที่ดินบริเวณท่าเรือกรุงเทพ หรือบริเวณท่าเรือคลองเตย ทำเลริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)  ที่นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล กทท.มองเห็นศักยภาพ

มอบนโยบายเร่งด่วน ให้กทท.พลิกโฉมที่ดินบริเวณท่าเรือคลองเตย เนื้อที่ 17 ไร่ ที่ดินนำร่องตั้งอยู่นอกเขตรั้วที่ดินส่วนใหญ่ของกทท. และไม่อยู่ในแผนพัฒนาที่ดินท่าเรือกรุงเทพ เนื้อที่ 2,353 ไร่  นำออกให้เอกชนเช่าพัฒนาเชิงพาณิชย์ รูปแบบเดียวกับเอเชียทีค ย่านช้อปปิ้ง แห่งใหม่ริมนํ้า จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลกที่ต่างชาติให้ความสนใจ โดยจะรับเรือท่องเที่ยว เจ้าพระยา เข้ามาในพื้นที่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ  คาดว่าสามารถเปิดประมูลได้ในปีหน้า

แหล่งข่าวกทท.ระบุว่า  แปลงที่ดินที่กทท.จะเร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ มี 3 แปลงใหญ่ ได้แก่

1.ที่ดิน 17 ไร่ติดอาคารสำนักงานของกทท.อยู่นอกรั้วกรมศุลกากร

2.ที่ดิน 15 ไร่ข้างอาคารสำนักงาน กทท.นอกรั้วกรมศุลกากรบริเวณโกดังสเตเดียม

3.ท่าเรือแหลมฉบังขนาด 90 ไร่ นอกรั้วกรมศุลกากรเช่นกัน

  ทั้งนี้ที่ดิน 2 แปลงนำร่อง ในกทม. คือ ที่ดิน 17 ไร่ข้างสำนักงาน กทท. เบื้องต้นจะให้เช่าไม่ตํ่ากว่า 30 ปี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนของเอกชน โดย กทท.จะได้รับค่าเช่าพร้อมผลตอบแทนการดำเนินงาน ประเมินเฉพาะค่าเช่า 30 ปีไม่ตํ่ากว่า 1,800-2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าทรัพย์สินที่จะมีการลงทุน เปิดกว้างให้เอกชนนำเสนอรูปแบบการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมด้านโลจิสติกส์เพื่อใช้เป็น Marine Logistics Center และ Business Center City รวมทั้งใช้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ กทท.

“ที่ผ่านมามีแผนนำที่ดินด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบันบริเวณเขตคลองเตย กทม. พื้นที่ 17 ไร่ มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท มาเปิดให้เช่าพื้นที่ระยะเวลา 30 ปี รูปแบบโครงการจะใช้ E-bidding แบบ Price Performance อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.พิจารณาร่าง TOR โมเดลการพัฒนาจะเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามานำเสนอ แต่ต้องสนับสนุนภารกิจงานด้านโลจิสติกส์ของกทท. เพราะบริเวณดังกล่าวอยู่นอกเขตรั้วที่ดินส่วนใหญ่ของกทท.และไม่อยู่ในแผนพัฒนาที่ดินท่าเรือกรุงเทพเนื้อที่ 2,353 ไร่ นอกจากนี้ ในบริเวณเดียวกันอีกด้านหนึ่ง จะมีที่ดินอีก 15 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา โดยจะรอการดำเนินงานในที่ดิน 17 ไร่ก่อน”

นอกจากนี้นางมนพร ยังมอบนโยบาย ปรับโฉมใหญ่ ท่าเรือกรุงเทพให้รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ยกระดับสู่ Smart Port พร้อมกับการพัฒนาชุมชนโดยรอบ  เป็นนโยบายรัฐบาลต้องการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งการเดินทางทางนํ้าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวได้ ดังนั้นการท่าเรือฯ ต้องเร่งพิจารณาการพัฒนาท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ปรับปรุงบริเวณตึก OB ท่าเรือกรุงเทพ รองรับเรือสำราญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และรองรับผู้โดยสารกว่า 6,000 คน โดยการก่อสร้างที่พักคอย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

 พร้อมทั้งผลักดันโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร (กม.) วงเงินกว่า4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุน 2,000 ล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ ปี2567 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อกทท. และเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวทั้งทางนํ้าและทางบก ที่สำคัญเพื่อแบ่งเบาปัญหาจราจรระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับการจราจรบนทางสาธารณะ

ขณะสถานะล่าสุด ผ่านการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) และผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

เปิดขุมทรัพย์แสนล้านที่ดินท่าเรือกรุงเทพ2,353 ไร่  

สำหรับที่ดินท่าเรือกรุงเทพ มีเนื้อที่ 2,353 ไร่ ที่ดินผืนใหญ่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาเขตคลองเตยของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่เคยมีแผนพัฒนาในภาพรวม (Master Plan) และกำหนดแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use) เมื่อประมาณปี 2562   โดยกรอบการพัฒนาฉบับเดิม แบ่งการพัฒนาที่ดินเป็น 3 โซน ประกอบด้วย

 โซน 1 พัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (commercial zone) จะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี 17 ไร่ ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีก และธนาคาร

ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 54 ไร่ ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าแนวสูงและแนวราบ สถานีพักรถบรรทุกสินค้า รวมถึงมีอาคารสำนักงาน 126 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) อยู่ในทำเลศักยภาพพัฒนากิจกรรมที่มีความหลากหลาย และสนับสนุนกิจการของท่าเรือและชุมชนโดยรอบ

อาทิ ศูนย์กลางการค้าและพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก อาคารพาณิชย์ อพาร์ตเมนต์เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน และศูนย์การประชุม มีศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร15 ไร่ เช่น ศูนย์แสดงสินค้ากิจการท่าเรือจะนำที่ดินบริเวณโรงฟอกหนังกระทรวงกลาโหม 123 ไร่ พัฒนาสมาร์ทคอมมิวนิตี้ ก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่รองรับชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ

โซนที่ 2 ปรับพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี พื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าห้องเย็น ฮาลาล ลานบริหารจัดการรถบรรทุก และจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ

มีท่าเทียบเรือตู้สินค้าบริเวณเขื่อนตะวันตกติดคลองพระโขนง จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ลานกองเก็บตู้สินค้าและอาคารสำนักงาน ปรับปรุงท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออกให้ทันสมัยรองรับเรือลำเลียงชายฝั่ง และมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ เป็นการระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังบางนา-ตราด และขาเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพและ

 โซน 3 พื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Modern City) อยู่ติดริมแม่นํ้าเจ้าพระยา เน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางนํ้า และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพัฒนาอาคารมิกซ์ยูสครบวงจร มีช็อปปิ้งมอลล์ ที่จอดรถ และโรงแรม

อย่างไรก็ตามที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทำเลศักยภาพติดแม่นํ้าเจ้าพระยา ใจกลางเมือง  เชื่อมกับทำเลอื่นได้แต่ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง และผลักดันราคาที่ดินขยับขึ้นได้หากเกิดการพัฒนา

เว็บไซต์อ้างอิง : thansettakij

#ราคาที่ดิน #คลองเตย #เจ้าสัวเจริญ #การท่าเรือ #เอเชียทีค #Property Inside

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ